วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ลุ้น'โตโยต้า'ย้ายฐานเก๋งมาไทย

วงการชิ้นส่วนลุ้นโตโยต้า ย้ายฐานผลิตรถเก๋งมาไทย  "นินนาท" ชี้บริษัทรถญี่ปุ่นเกือบทุกค่ายเล็งขยายการลงทุนไป อินเดีย อินโดนีเซีย และไทยมากขึ้น โดยมอง 3 องค์ประกอบหลักก่อนตัดสินใจทั้งเรื่องแรงงาน  อัตราภาษีและระบบโครงสร้างพื้นฐาน
     แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าขณะนี้โตโยต้าอยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตรถเก๋งขนาดเล็กที่มีการผลิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นออกมาลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น  หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญปัญหาแรงงานขาดแคลน ประกอบกับเศรษฐกิจในญี่ปุ่นต้องเผชิญภาวะเงินเยนแข็งค่า ส่วนโรงงานและแรงงานของโตโยต้าที่มีอยู่ในญี่ปุ่นจะถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เช่น รถไฮบริด เป็นรถที่มีการผลิตจำนวนไม่มากราคาแพง
 ขณะเดียวกัน นโยบายของค่ายนิสสันก็เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตรถประหยัดพลังงานอย่างนิสสัน มาร์ช  มายังประเทศไทยแล้วและประสบผลสำเร็จเมื่อตลาดญี่ปุ่นให้การตอบรับในเวลาไม่ถึง 1 ปี เนื่องจากมีราคาถูกกว่าที่เคยผลิตในญี่ปุ่น  สอดคล้องกับสถานการณ์ในอีก 2-3 ปีจากนี้ไป รถอีโคคาร์จากญี่ปุ่นจะมีการผลิตในไทยมากขึ้นโดยค่ายฮอนด้าจะเปิดตัวในปี 2554 ค่ายมิตซูบิชิและซูซูกิ จะเปิดตัวในปี 2555 และปีถัดไปเป็นการเปิดตัวของรถอีโคคาร์จากโตโยต้า
     "เมื่อปลายปี 2553 พบว่าค่ายรถในญี่ปุ่นหลายบริษัทมีค่าแรงงานในการผลิตรถขนาดเล็กสูงขึ้นจึงไม่เหมาะที่จะผลิตรถในญี่ปุ่นทำให้ค่ายรถบางค่ายเริ่มนำการผลิตรถขนาดเล็กเข้ามาผลิตในไทยมากขึ้น  โดยเฉพาะค่ายนิสสันที่ระยะแรกๆ คนญี่ปุ่นก็ไม่มั่นใจ พอมีการทำการประชาสัมพันธ์ ทำให้ยอดของนิสสัน มาร์ช ที่ส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่นพุ่งจากเป้าที่ตั้งไว้เกือบ 100% หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เดิมตั้งเป้าการผลิตไว้ที่  86,000 คัน/ปี ในจำนวนนี้จะส่งออก 80% และขายในประเทศ 20%  แต่ขณะนี้ยอดขายมาร์ช ในไทยพุ่งเกินเป้าแล้ว"
 ด้านนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การที่โตโยต้าจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปที่ไหนก็จะไม่ดูองค์ประกอบแค่เรื่องเงินเยนแข็งค่าอย่างเดียว และเวลานี้ก็มีแรงงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่ประมาณ 80,000 คนในญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่มีความสามารถ และถ้าจะไปลงทุนในประเทศใดก็จะดูที่ขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย ซึ่งจะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ค่าแรงงานในประเทศนั้นๆ อัตราภาษีทั้งระบบและระบบโครงสร้างพื้นฐาน    
 แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยอมรับว่า กลุ่มทุนยานยนต์ค่ายญี่ปุ่นสนใจที่จะออกไปลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่นมากขึ้นโดยมีประเทศเป้าหมายคือ อินเดีย อินโดนีเซียและไทย เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคต่างๆให้มากขึ้น
     ขณะที่ นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ฐานการผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาต้นทุนสูงขึ้นเพราะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดีทำให้ตลาดญี่ปุ่นไม่ดีในขณะที่ตลาดส่งออกไปอเมริกาก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ  ทำให้ฐานการผลิตในญี่ปุ่นมีกำลังการผลิตเหลือ  ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่น จึงต้องหันมามองฐานการผลิตในจีน อินเดียและไทยมากขึ้น โดยฐานการผลิตในจีนและอินเดียจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ  ส่วนในไทยจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปเอเชีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นหลัก
      นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวลือการย้ายฐานรถยนต์นั่งของโตโยต้าไปยังประเทศอินเดีย และ อินโดนีเซีย มองว่าไม่ใช่การย้ายฐานแต่เป็นการลงทุนใหม่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีโอกาสสูง เนื่องจากปัจจุบันฐานการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาเงินเยนแข็งค่า ทำให้มีปัญหาด้านการส่งออก ประกอบกับยอดขายรถยนต์ในประเทศก็ไม่ดี เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นงดการส่งเสริมธุรกิจรถยนต์ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องหาทางออกและหาตลาดใหม่ๆเพื่อมาทดแทน
 "การเข้าไปลงทุนในอินเดีย หรือ อินโดนีเซียครั้งนี้ของโตโยต้า ก็เหมือนกับการที่โตโยต้าตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและใช้เป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ เนื่องจากตลาดมีศักยภาพสูง, รัฐบาลไทยให้การสนับสนุน และภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศก็เติบโต เรียกว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ค่ายรถต้องพิจารณาก่อนที่จะเข้าไปลงทุน"
 นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของฐานการผลิตในประเทศไทยนั้น ยังคงเชื่อมั่นว่าโตโยต้าจะไม่ย้ายฐานการผลิตรถยนต์นั่งจากไทยไปยังประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน เพราะไทยถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์หลายรุ่นที่ป้อนทั้งตลาดในและนอกประเทศ ประกอบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ดังจะเห็นจากยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะทะลุ 1.8 ล้านคัน ส่วนตัวเลขยอดขายในประเทศก็คาดว่าจะถึง 800,000 คันและยอดส่งออกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่โครงการอย่างอีโคคาร์ก็เริ่มทยอยเปิดตัวกัน และคาดว่าโตโยต้าน่าจะเปิดตัวในปีหน้า
  ส่วนปัจจัยที่เลือกประเทศอินเดีย หรือ อินโดนีเซีย เพราะว่าทั้งสองประเทศมีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยอินเดียในปีที่ผ่านมายอดขายเติบโตพอๆ กับประเทศจีน ขณะที่อินโดนีเซีย มูลค่าทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาเติบโตเหนือกว่าประเทศไทย ,ประชากรก็สูงกว่าไทย 4 เท่า,ทรัพยากรภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันก็มีเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือรัฐบาลของอินโดนีเซียมีการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
 "ในอดีตตลาดอินเดียมีเพียงค่ายรถไม่กี่เจ้าที่เข้าไปทำตลาด ยกตัวอย่างซูซูกิ ที่เข้าไปและประสบความสำเร็จ เพราะตลาดอินเดียชอบรถเล็กและซูซูกิก็มีความเชี่ยวชาญ แต่ระยะหลังอุตสาหกรรมยานยนต์และภาพรวมการเติบโตในประเทศสูงมาก ทำให้หลายค่ายสนใจเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นฮอนด้า หรือ โตโยต้า ส่วนอินโดนีเซียก็ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะปัญหาการเมืองคลี่คลาย และรัฐบาลของอินโดนีเซียพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของเขาเติบโตเหมือนประเทศไทยของเรา ทำให้หลายค่ายมีความสนใจและเข้าไปลงทุน"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,609  13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น