วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อนาคตกูเกิล-แอปเปิล อำนาจบริหารเปลี่ยนมือ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอที คือ แอปเปิลและกูเกิล สร้างความตกตะลึงให้กับตลาดไม่น้อยกับข่าวการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารระดับสูง
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคม สตีฟ จ็อบส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอปเปิลฯ ประกาศลาหยุดโดยไม่มีกำหนดจากเหตุผลเรื่องสุขภาพ และมอบอำนาจการบริหารให้กับ ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการเป็นผู้ดูแลแทน ขณะที่กูเกิลประกาศเปลี่ยนตัวประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม จาก เอริค ชมิดท์ เป็น แลร์รี เพจ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท โดยจะมีผลในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าการปรับเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมไอทีในอนาคตบ้าง
++ กูเกิลปรับโครงสร้างต่อกรเฟซบุ๊ก
 แม้ว่าในช่วงเกือบ 10 ปีภายใต้การบริหารงานของเอริค ชมิดท์ วัย 55 ปี ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอของกูเกิลเมื่อปี 2554 บริษัทจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและทำรายได้ในแต่ละปีได้มหาศาล จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในธุรกิจไอทีเคียงข้างไมโครซอฟท์และแอปเปิล แต่ในเวลานี้การแข่งขันบนโลกออนไลน์กำลังดุเดือดกว่าที่เคย โดยเฉพาะในยุคที่ใครๆ ก็พูดถึงแต่เฟซบุ๊ก ขณะที่เว็บไซต์โซเชียลมีเดียอื่นๆ อย่างทวิตเตอร์ โฟร์สแควร์ หรือกรุ๊ปปอง ก็มีโอกาสก้าวเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนของเกม ทำให้เจ้าของเสิร์ชเอนจินอันดับ 1 ของโลกต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อพยายามรักษาความสามารถในการแข่งขันกับบริษัทน้องใหม่เหล่านี้
 ดังนั้นการสร้างภาพลักษณ์ของกูเกิลให้กลับมาทันสมัยและคล่องตัวอีกครั้งจึงเป็นงานสำคัญอันดับแรกของ แลร์รี เพจ ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ เพจซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมก่อตั้งบริษัทกูเกิลฯ กับเพื่อนร่วมสถาบัน คือ เซอร์เกย์ บริน ในปี 2541 เขาเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอของกูเกิลมาก่อนหน้าที่ชมิดท์จะเข้ามากุมบังเหียน โดยในเวลานั้นกูเกิลมีรายได้ต่อปีไม่ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และมีพนักงานเพียงไม่ถึง 300 คน ผิดกับขนาดของกูเกิลในเวลานี้ ด้วยจำนวนพนักงาน 24,400 คน และรายได้ต่อปี 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การตัดสินใจและการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีความรวดเร็วลดน้อยลง
 ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าชมิดท์จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด แต่เขาไม่ได้เป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจขั้นเด็ดขาด เพจและบรินจะเข้ามามีบทบาทด้วยเสมอ และในบางกรณี อย่างเช่นการตัดสินใจย้ายเสิร์ชเอนจินออกจากจีนเมื่อปีที่แล้ว ทั้งคู่กลับคำตัดสินใจของชมิดท์เสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้กูเกิลยังมีปัญหาสมองไหลไปยังเฟซบุ๊ก รายงานจากสำนักข่าวเอพีระบุว่า พนักงาน 200 คน ของเฟซบุ๊กจากทั้งหมดประมาณ 2,000 คนย้ายมาจากกูเกิล วิศวกรบางคนให้เหตุผลในการเปลี่ยนมาทำงานกับเฟซบุ๊กว่าเป็นเพราะต้องการทำงานกับบริษัทขนาดเล็กที่เปิดโอกาสให้มีอิสระทางความคิดมากกว่า โดยปราศจากแรงกดดันจากระบบบริหารของบริษัท
 "ผมคิดว่าสิ่งที่เฟซบุ๊กแสดงให้กูเกิลเห็นก็คือ พวกเขาเดินหน้าช้าเกินไป เฟซบุ๊กกำลังก้าวไปด้วยความเร็วแสง แต่กูเกิลไม่ใช่" ลู เคอร์เนอร์ นักวิเคราะห์ด้านโซเชียลมีเดียจากเว็ดบุช ซีเคียวริตีส์ กล่าว และเสริมว่าการมีคน 3 คนบริหารบริษัทและตัดสินใจทำให้การเดินหน้าของกูเกิลช้าลง ขณะที่แดนนี ซัลลิแวน บรรณาธิการบริหารของเสิร์ชเอนจินแลนด์ ให้ความเห็นว่า "เฟซบุ๊กกลายมาเป็นเด็กที่มีความทันสมัยในวงการ และในเวลานี้กูเกิลก็ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขายังคงทันสมัยอยู่"
++ สงครามโซเชียลเน็ตเวิร์ก
 กูเกิลยังไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อมาตอบโต้กับเฟซบุ๊กได้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าความล่าช้านี้อาจสร้างความเสียหายอย่างมากให้กูเกิล เนื่องจากข้อมูลต่างๆ ที่เฟซบุ๊กได้มาจากผู้ใช้จะช่วยให้เฟซบุ๊กกลายมาเป็นสื่อที่น่าดึงดูดใจสำหรับเจ้าของสินค้าในการขายโฆษณาที่เหมาะกับความสนใจของผู้บริโภค "เฟซบุ๊กกำลังโจมตีกูเกิลตรงป้อมปราการที่สำคัญที่สุดของบริษัท นั่นคือรายได้จากการโฆษณา" วิท แอนดรูว์ส นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ กล่าว
 กูเกิลทำเงินส่วนใหญ่จากโฆษณาที่เก็บข้อมูลมาจากเสิร์ชเอนจิน เช่น เวลาที่ผู้ใช้ค้นหาคำว่า "ดอกไม้" โฆษณาที่ปรากฏขึ้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นโฆษณาของร้านดอกไม้ เป็นต้น แต่โครงสร้างของเฟซบุ๊กสามารถทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงโฆษณาได้ในแบบที่กูเกิลทำไม่ได้ อย่างปุ่ม "ถูกใจ" ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถแสดงความพึงพอใจต่อทุกสิ่งตั้งแต่กางเกงยีนส์ไปจนถึงข้อความบนบล็อก
 อย่างไรก็ดี เคอร์เนอร์มองว่าแม้จะไม่มีบริการโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นของตัวเอง แต่เฟซบุ๊กก็มีบทบาทในเครือข่ายสังคมมากอยู่แล้ว "ยูทูบเป็นเว็บไซต์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกและมีความเป็นสังคมอยู่มาก อี-เมล์ยังคงเป็นสื่อที่ใช้สื่อสารกันในสังคมเป็นหลัก และกูเกิลเป็นผู้ให้บริการอี-เมล์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก นอกจากนี้พวกเขายังมีแพลตฟอร์มสำหรับบล็อกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว"
 ด้านบริน ซึ่งจะเข้ามาดูแลด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโครงการด้านยุทธศาสตร์ใหม่หลังจากเพจก้าวขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอ กล่าวกับนักวิเคราะห์ว่า บริษัทจะทุ่มความพยายามมากขึ้นในด้านโซเชียลมีเดีย "ที่ผ่านมาเราจับเพียงแค่ 1% ของศักยภาพที่มีอยู่ในขอบเขตของมัน"
++ สตีฟ จ็อบส์ ลาป่วย
 ในขณะที่การปรับเปลี่ยนซีอีโอของกูเกิลเกิดขึ้นเพราะความต้องการในการปรับยุทธศาสตร์ อำนาจการบริหารของแอปเปิลจำเป็นต้องถูกเปลี่ยนมือเพราะปัญหาสุขภาพของสตีฟ จ็อบส์ ที่นอกจากจะเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแล้ว ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์แอปเปิลด้วย การลาป่วยของจ็อบส์ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 และครั้งที่ 2 ในปี 2552
 เมื่อปี 2547 จ็อบส์ถูกตรวจพบมะเร็งในตับอ่อนชนิดที่พบยาก ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดในทันที แต่อีก 4 ปีถัดมาจ็อบส์เริ่มมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก และในปี 2552 เขาก็ลาป่วยอีกครั้ง ในเวลานั้นแอปเปิลไม่ได้ให้รายละเอียดในการลาป่วยของจ็อบส์ จนในเวลาต่อมาโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐเทนเนสซีได้ออกมาเปิดเผยว่าจ็อบส์ทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับที่นั่น
 จ็อบส์เขียนในอี-เมล์แจ้งแก่พนักงานถึงการลาป่วยของเขาเมื่อวันจันทร์ที่ 17 มกราคมที่ผ่านมาว่า เขาจะยังคงเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิล และมีบทบาทในการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของบริษัทต่อไป "ผมรักแอปเปิลมากและหวังว่าจะกลับมาในทันทีที่ทำได้" และกล่าวว่าเขาและครอบครัวขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับความเคารพในความเป็นส่วนตัว
++ อนาคตที่ไม่แน่นอนของแอปเปิล
 การประกาศวางมือชั่วคราวของจ็อบส์สร้างความไม่แน่นอนให้กับอนาคตของแอปเปิล แม้ว่า ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ จะเคยก้าวขึ้นมาบริหารบริษัทในการลาป่วยของจ็อบส์ 2 ครั้งก่อน แต่ในช่วงที่ผ่านมา สตีฟ จ็อบส์ เป็นผู้ก้าวขึ้นเวทีแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไอพ้อด ไอโฟน หรือไอแพ้ด ด้วยตัวเองมาโดยตลอด นับเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเขาคือผู้กำหนดทิศทางของบริษัท
 ไบรอัน มาร์แชล นักวิเคราะห์จากกลีเชอร์ แอนด์ โค. ให้ความเห็นว่าภาษาที่จ็อบส์ใช้ในจดหมายถึงพนักงานแอปเปิลในครั้งนี้เป็นไปในทิศทางบวกน้อยกว่าครั้งก่อน โดยเมื่อครั้งที่แล้วเขากำหนดระยะเวลาในการลาป่วย แต่ในครั้งนี้เขากลับไม่ให้กำหนดในการกลับมา ด้านชาร์ลส์ เอลสัน หัวหน้าศูนย์บรรษัทภิบาลไวน์เบิร์กจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ กล่าวว่าแถลงการณ์ที่คลุมเครือของจ็อบส์ทำให้เกิดการจินตนาการกันไปต่างๆ นานา และนี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่แล้ว "มันสร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนอย่างมาก" เอลสัน กล่าว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,604  27-29  มกราคม พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น